top of page
               วัดโรจนกรรัตนาราม (Wat Rojanakornrattanaram)
                                          โรจนกรนามนี้มีความหมาย
                            ใครอยากได้บุญนำตามคำสอน
                                                                              ต้องเข้าถึงไตรรัตน์อันถาวร
                                                                              เพื่อดับความทุกข์ร้อนก่อนสิ้นใจ
take control of

YOUR LIFE with Dhamma

 

 

อัตตาหิ อัตตโนนาโถ 

ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

   ประวัติการก่อตั้ง

วัดโรจนกรรัตนาราม เยอรมนี ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๖ โดยได้รับการประทานมงคลนามจาก  เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์

วัดปากน้ำภาษีเจริญ ให้ชื่อว่า วัดโรจนกรรัตนาราม เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๖

 

วัดโรจนกรรัตนาราม เยอรมนี  ได้เกิดขึ้นจากความดำริและร่วมมือร่วมใจของพุทศาสนิกชน ในเมือง  Eisenberg,  Kerzenheim - Germany  และเมืองใกล้-เคียง รวมทั้งการที่พระสงฆ์ไทยได้เห็นถึงความยากลำบากของชาวพุทธไทยในต่างแดนที่ขาดที่พึ่ง ไร้ที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ วัดโรจนกรรัตนาราม เยอรมนี จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยหวังว่า       วัดแห่งนี้จะเป็นเสมือนโรงพยาบาลทางจิตวิญญาณ       ที่ช่วยเยียวยารักษา ส่งเสริมสุขภาพทางจิตใจแด่พุทธศาสนิกชนทุกคนที่เข้ามายังแห่งนี้

 

        

 

 

        อนึ่ง วัดโรจนกรรัตนาราม เยอรมนี ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นการเผยแผ่พระพุทธธรรมในบวรพระพุทธศาสนา ให้เกิดการแพร่หลายในดินแดนตะวันตก และเกิดประโยชน์ ความสุข แก่พหูชน เพื่อสงเคราะห์โลก และเพื่อเป็นการส่งเสริมการทำหน้าที่พระพุทธบุตรของพระธรรมทูตไทยในต่างแดนอีกด้วย เพื่อให้สมตามพระพุทธพจน์ที่ตรัสสั่งไว้ว่า

 

 มุตฺตาหํ ภิกฺขเว สพฺพปาเสหิ เย ทิพฺพา เย จ มานุสฺสา, ตุมฺเหปิ ภิกฺขเว มุตฺตา สพฺพปาเสหิ, เย ทิพฺพา จ เย มานุสฺสา.

    จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ.
   มา เอเกน เทฺว อคมิตฺถ, เทเสถ ธมฺมํ อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ, สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสถ, สนฺติ สตฺตา อปฺปรชกฺข ชาติกา อสฺสวนฺตา ธมฺมสฺส ปริหายนฺติ, ภวิสฺสนฺติ ธมฺมสฺส อญฺญาตาโร,  อหมฺปิ ภิกฺขเว, เยน อุรุเวลา เสนานิคโม เตนุปสงฺกมิสฺสามิ ธมฺมเทสนายาติ.


    “ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์ แม้เธอทั้งหลายก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวงทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์เช่นกัน
เธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ ขอจงอย่าได้ไปรวมทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ ครบ บริสุทธ์บริบูรณ์ สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อยมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม”

    ทรงประทานแก่พระอรหันตขีณาสพ 60 รูป ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ในปีที่หนึ่งแห่งการตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ หรือประมาณ 2588 ปีที่ผ่านมา นับเป็นพระพุทธปสาสโนบายที่เป็นอมตะมาทุกยุคสมัย จวบจนกระทั่งปัจจุบัน

 

เนื่องจากมีญาติโยมใจบุญ ช่วยกันปวารณาตัวก่อสร้างวัดใหม่ ไม่ไกลจากที่เดิม และสะดวกไปมามากขึ้น ในเดือนกันยายน 2557 จึงได้ย้ายวัดมาที่เเห่งใหม่  Karolinenstr. 3, 67259 Heuchelheim bei Frankenthal

 

เจ้าอาวาสคนปัจจุบัน : พระมหาไพโรจน์ โรจนธัมโม

ประเพณีทอดกฐิน

 

ประเพณีการทอดกฐิน ในแต่ละปีกำหนดให้มีการจัดทอดกฐินขึ้นภายใน ๑ เดือน หลังประเพณีออกพรรษา โดยวัดที่จะสามารถรับกฐินได้ ต้องมีพระภิกษุจำพรรษาโดยไม่ขาดพรรษาเลย และแต่ละวัดสามารถรับกฐินได้ปีละ ๑ ครั้ง 
การทอดกฐินเป็นกาลทาน ตามพระวินัยกำหนดกาลไว้ คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ใคร่จะทอดกฐิน ก็ให้ทอดได้ในระหว่างระยะเวลานี้ จะทอดก่อนหรือทอดหลังกำหนดนี้ ก็ไม่เป็นการทอดกฐิน

อนึ่ง วัดโรจนกรรัตนาราม จัดทอดกฐินสามัคคี ในวันอาทิตย์ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

ขอเรียนพุทธศาสนิกชนทุกท่าน โดยพร้อมเพรียงกัน

 

ประวัติวันออกพรรษา และความสำคัญของ วันออกพรรษา

ความหมายของ วันออกพรรษา

การออกพรรษา หมายถึงวันที่พ้นจากข้อกำหนดทางพระวินัยที่ต้องอยู่ประจำที่หรือในวัดแห่งเดียวตลอด 3 เดือน  ในฤดูฝน กล่าวคือ เมื่อพระภิกษุได้อธิษฐานอยู่จำพรรษาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 แล้วอยู่ประจำที่หรือวัดนั้นเรื่อยไป จนสิ้นสุดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากวันออกพรรษาแล้วก็สามารถจาริกไปค้างแรมที่อื่นได้

     วันออกพรรษา เรียกว่าอย่างหนึ่งว่า “วันปวารณา” หรือ “วันมหาปวารณา” คือวันที่พระสงฆ์ทำปวารณากรรม คือเปิดโอกาสให้เพื่อนพระภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันด้วยเมตตาจิตได้ เมื่อได้เห็นได้ทั้งหรือสงสัยในพฤติกรรมของกันและกัน

ความสำคัญ วันออกพรรษา

วันออกพรรษานี้ มีความสำคัญต่อพุทธศาสนิกชนและเป็นวันสำคัญของพระพุทธศาสนาด้วยเหตุผลดังนี้

๑. หลังจากวันออกพรรษาพระสงฆ์ได้รับพระบรมพุทธานุญาตให้จาริกไปค้างแรมที่อื่นได้
๒. เมื่อออกพรรษาแล้วพระสงฆ์จะได้นำความรู้จากหลักธรรมและประสบการณ์ที่ได้รับระหว่างพรรษาไปเผยแผ่แก่ประชาชน
๓. วันออกพรรษาพระสงฆ์ได้ทำปวารณา เปิดโอกาสให้เพื่อนพระภิกษุว่ากล่าวตักเตือนเรื่องความประพฤติของตนเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ ความเคารพนับถือและความสามัคคีกัน
๔. พุทธศาสนิกชนได้นำแบบอย่างไปทำปวารณาเปิดโอกาสให้ผู้อื่นว่ากล่าว ตักเตือนตนเองเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาตนและสร้างสรรค์สังคมต่อไป

 

นอกจากนี้ ประเพณีของชาวพุทธที่นิยมกระทำในเทศกาลออกพรรษาคือ 

 - “ประเพณีตักบาตรเทโว”  คำว่า “ตักบาตรเทโว” มาจากคำเต็มว่า “ตักบาตรเทโวโรหณะ”  คือการตักบาตรเนื่องในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทบันทึกไว้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์ (ปาฏิหาริย์เป็นคู่ๆ) ที่ต้นมะม่วงใกล้เมืองสาวัตถีแล้วก็เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่ 7 บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อเทศนาพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดาเป็นเวลา 3 เดือน ครั้นออกพรรษาแล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเสด็จลงสู่มนุษย์โลกทางบันไดพาดลงใกล้เมืองสังกัสสะ

- ประเพณีทอดกฐิน ถือเป็นกาลทาน ที่เป็นประเพณีสำคัญของพุทธศาสนิกชนอย่างหนึ่ง โดยมีระยะเวลา 1 เดือน หลังจากวันออกพรรษาคือวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ไปจนถึงกลางเดือน 12  

หลักธรรมที่ควรปฏิบัติ

เพื่อให้พุทธศาสนิกชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของวันออกพรรษารวมทั้งหลักธรรม เรื่อง ปวารณาและแนวทางปฏิบัติตนอย่างถูกต้องในวันออกพรรษา และสามารถเลือกสรรหลักธรรม คือปวารณา ไปใช้ในการดำเนินชีวิตเพื่อพัฒนาตนและสังคม

อีกทั้งนำครอบครัวไปบำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร บริจาคทาน ปฏิบัติธรรมที่วัด รักษาศีล ไหว้พระสวดมนต์ ฟังธรรมเจริญภาวนา ในกรณีที่เป็นวันหยุดเนื่องในวันออกพรรษา

 

bottom of page